ย้อนรอยคดีความ-ค่าโง่สัมปทานรัฐ ใต้เงาทุนยักษ์ ซี.พี.

1 min read

 

พิมพ์ไทยออนไลน์ // คนรถไฟจี้รัฐชะลอลงนามสัมปทานไฮสปีดเทรนกับกลุ่มซีพีไว้ก่อน หวั่นอนาคตผุดค่าโง่บานเบิก เผยสัมปทานรัฐทีโอที-แคท ใต้เงากลุ่มซีพี-ทรูมูฟ ล้วนจบลงด้วยการฟ้องร้องและค่าโง่นับแสนล้านบาท ล่าสุดทีโอทีชนะคดีส่วนแบ่งรายได้ ADSL
กว่า 9.4 หมื่นล้าน

 

 

แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไฟเขียวให้ความเห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท กับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง และพันธมิตร
(CPH) โดยไม่ฟังคำทัดทานใด ๆ จากคนรถไฟและสหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ที่เห็นว่า รัฐบาลรักษาการที่กอปรด้วยรัฐมนตรีร่วมคณะที่มีอยู่ไม่ถึง 15 คนนั้น ไม่ควรอนุมัติทิ้งทวนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีผลผูกพันในระยะยาว จนอาจสร้าง
ภาระให้แก่ประเทศได้

จนถึงวินาทีนี้ หนทางในอันที่จะยับยั้งการ “ทิ้งทวน” โครงการสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการสัมปทานอื่น ๆ ของรัฐและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงาน
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้นัดหมายลงนามในสัญญาสัมปทานกับกลุ่มซีพีเอช ภายในสัปดาห์หน้าแล้ว

แหล่งข่าวในสหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้นายกฯ และ รมว.คมนาคม ได้ชะลอการลงนามในสัญญาสัมปทานดังกล่าวไปก่อน และขอให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าวอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาค่าโง่ตามมา
ในอนาคต

ทั้งนี้แหล่งข่าวเผยว่า หากทุกฝ่ายจะย้อนรอยศึกษาบรรดาโครงการสัมปทานรัฐภายใต้เงากลุ่มซีพีในอดีต จะพบว่า เกือบทุกโครงการต่างจบลงด้วยข้อขัดแย้ง ที่มีการฟ้องร้อง รวมถึงภาครัฐต้องจ่าย “ค่าโง่” ที่หน่วยงานรัฐอาจต้องจ่ายให้แก่บริษัทเอกชนกลุ่มทุนรายนี้

ไล่ตั้งแต่โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 2 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่กลุ่มซีพีในนามทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน โดยหลังสิ้น
สุดสัญญาสัมปทานในเดือนตุลาคม 2560 แม้คู่สัญญาเอกชนจะส่งมอบทรัพย์สินให้แก่รัฐตามสัญญา Built transfer to Operate : BTO แต่ก็มีกรณีฟ้องร้องคดีตามมาอีกเป็นพรวน

โดยเฉพาะเรื่องที่ TOT ได้ยื่นฟ้องกลุ่มทรูต่ออนุญาโตตุลาการกรณีติดตั้งอุปกรณ์ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ได้จ่ายแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐตามสัญญา ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ทรูคอร์ปอเรชั่นต้องชำระเงินค่า
ผิดสัญญาให้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วงเงินรวมกว่า 94,000 ล้านบาท แยกเป็นส่วนแบ่งรายได้ในช่วง ก.ย. 2544 – ส.ค. 2558 จำนวน 76,000 ล้านบาท และตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 – ธ.ค. 2560 อีก 18,200 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และยังมีคดีคั่งค้างอื่นๆ
อีกนับสิบคดี รวมทั้งคดีที่ทรูเองฟ้องทีโอที ขอส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศกว่า 2,500 ล้านบาทด้วย

ในส่วนของบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่มีสัญญาสัมปทานมือถืออยู่กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ไม่เพียง กสท. และทรูมูฟ จะมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องการส่งมอบเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์มูลค่ากว่า 3,600 ล้านบาท ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญาระงับข้อพิพาท
เมื่อปลายปี 61 ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีคดีฟ้องร้องอื่น ๆ มูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกรณีพิพาทรายได้นำส่งรัฐที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์แลกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งให้ทรูมูฟต้องจ่ายเงินรายได้เข้ารัฐกว่า 3,381 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่คณะทำงานเคยประเมินไว้ที่ 13,800 ล้านบาท แต่
บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมนำเรื่องขึ้นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อรอการชี้ขาดในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่รัฐผนวกเอา 3 โครงการใหญ่ คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่า 2.24 สานล้านบาท โครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน เนื้อที่รวมกว่า 150 ไร่ มูลค่ากว่าแสน
ล้านบาท ที่สามารถจะนำมาก่อสร้างโครงการคอมเพล็กซ์ยักษ์ต่างๆ ได้นับแสนล้านบาทแล้ว ยังมี โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มูลค่า 25,000 ล้านที่ถูกผนวกแถมไปให้กับรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีกด้วย

ทั้งนี้ด้วยเหตุที่แต่ละโครงการมีความแตกต่างกัน ในเป้าหมายและวัตถุประสงค์ แต่กลับถูกมัดรวมกัน แล้วมอบหมายให้คณะทำงานคณะกรรมการเจรจาเพียงชุดเดียวพิจารณาตัดสินชี้ขาดโดยคำนึงถึงแต่เรื่องของวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นเกณฑ์ชี้ขาด จึงทำให้หลายฝ่าย
เชื่อว่าตลอดสัญญา 50 ปีของโครงการนี้ มีโอกาสสูงมากที่ภาครัฐอาจต้องเสียค่าโง่ถูกเอกชนฟ้องร้องในภายหลังจากความไม่ชัดเจนของสัญญาที่จัดทำขึ้นอย่างเร่งรีบ

โดยเฉพาะกรณีที่ในสัญญาโครงการกำหนดให้การรถไฟ ฯ มีภาระต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่บริษัทเอกชน 10 ปีๆ ละกว่า 14,900 ล้านบาท หากปีใดที่ภาครัฐประสบปัญหาด้านการเงิน จนไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยได้ตามสัญญาหรือไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตลอด
แนวโครงการ จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในสถานีที่กำหนด รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่ได้ตามสัญญาแล้วก็มีโอกาสจะถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามมาอย่างแน่นอน

“บทเรียนโครงการสัมปทานรัฐข้างต้นจนจบลงด้วยค่าโง่เหล่านี้ แม้แต่สำนักงานอัยการสูงสุดยังแสดงความห่วงใยและได้ตั้งขอสังเกตเกี่ยวกับแผนการส่งมอบพื้นที่ให้เป็นไปตามกำหนดในร่างสัญญา และให้เข้าใจตรงกันกับทางภาคเอกชน เพื่อป้องกันปัญหา รฟท. ต้องตก
เป็นผู้ผิดสัญญาและถูกเรียกร้องค่าเสียหาย หรือถูกบอกเลิกสัญญาจากการไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในอนาคต”

Cr. : เนตรทิพย์ออนไลน์
http://www.natethip.com/news.php?id=479

You may have missed