จากน้ำรอระบาย..สู่บำบัดน้ำเสีย มหกรรมปล้นคนกรุงเพื่อ ?
1 min read
พิมพ์ไทยอออนไลน์ // กลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่กำลังทำเอารัฐบาลงานเข้า !กับเรื่องของน้ำรอระบาย บ่ายวันศุกร์แห่งชาติที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ชาว กทม.ต้องระทมทุกข์อย่างหนักจากฝนถล่มกรุงเพียงชั่วคราวชั่วยาม แค่ชั่งโมงเดียว
แต่ก็ทำเอา กทม.จมบาดาล กระทบวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วม น้ำรอการระบาย ต้องติดแหงกอยู่บนท้องถนน กัน 3-4 ชั่วโมง
สะท้อนให้เห็นการทำงานของ กทม. ในยุคผู้ว่าฯ ”อัศวิน ขวัญเมือง” ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อุตส่าห์ใช้ ม.44 เลือกเฟ้นแต่งตั้งมากับมือ
ยิ่งเมื่อผู้ว่าฯ กทม. ออกมาขอโทษแล้วยอมรับความผิดพลาด โดยอ้างสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่จนทำเอาจราจรใน กทม.กลายเป็นการจลาจลนั้น เป็นเพราะสถานีสูบน้ำ 2 แห่งที่รัชดาลาดพร้าว และอุโมงค์บางซื่อ มีปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง
อุโมงค์ยักษ์ที่จะผันน้ำออกทะเลไม่สามารถเดินเครื่องได้
ท่ามกลางความงวยงงของชาวกรุงที่ต้องระดมทุกข์กันซ้ำซากเป็นไปได้อย่างไรที่สถานีสูบน้ำและโดยเฉพาะอุโมงค์ยักษ์มูลค่านับพันล้านที่ กทม ทุ่มงบก่อสร้างมาเป็นวรรคเป็นเวร แต่กลับไม่มีระบบไฟฟ้าสำรองที่จะรับมือยามวิกฤติ
ขณะที่คนกรุงยังคงคาใจกับประสิทธิภาพการทำงานของ กทม. ต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ก็มีกระแสข่าวสะพัด กทม. จะดีเดย์จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนประชาชนในเขต กทม.ในอัตราเฉลี่ย ครัวเรือนละ 50 บาท/เดือนนับตั้งแต่ปลายปีนี้
โดยที่ประชุมวิสามัญสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่…) พ.ศ… หลังจากได้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อนำมา
ประกอบพิจารณามาแล้ว
โดยในส่วนของอัตราจัดเก็บนั้น กำหนดไว้เบื้องต้นจะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 80 ของการใช้น้ำตามแหล่งกำเนิด แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.บ้านเรือนทั่วไป จัดเก็บอัตรา 2 บาท/ลบ.ม. 2. อาคารที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ 4 บาท/ลบ.ม. และ 3. โรง
งานอุตสาหกรรม 8 บาท/ลบ.ม. ซึ่งในส่วนของบ้านเรือนทั่วไปนั้นเฉลี่ยอัตราจัดเก็บ เบื้องต้นจะไม่เกิน 50 บาทต่อเดือน
ท่ามกลางข้อกังขาจากผู้คนชาว กทม. รายได้จากการ “มัดมือชก” ค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งหากคำนวณคร่าวๆ แค่ 5 ล้านครัวเรือนก็ตกเดือนละ 250 ล้านบาท หรือปีละ 3,000-4,000 ล้านบาทนั้น กทม. จะนำไปบริหารจัดการน้ำเสียอย่างไร คุ้มค่า
กับเงินที่จัดเก็บไปหรือไม่
ลำพังแค่การระบายน้ำท่วมที่ไม่ได้ใช้ เทคโนโลยีชั้นสูงใดๆ เลย แถม กทม. เองยังมีการลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือสุด “เวอร์วังอลังการ” โดยเฉพาะอุโมงค์สูบน้ำมูลค่านับพันล้านบาท
แต่ประสิทธิภาพในการบริหารและรับมือน้ำท่วมของ กทม.เป็นอย่างไร ปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากในหลายพื้นที่จนสร้างความเอือมระอาให้กับชาว กทม.นั้นสะท้อนคำตอบได้ดี
การบริหารและแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ กทม. ต้องลงทุนจัดหาระบบการบำบัดน้ำเสียรวมในแต่ละพื้นที่สุดมโหฬารนั้น กทม.จะ มีความสามารถทำได้หรือ
ยิ่งในส่วนของ โรงแรม คอนโดที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบริการ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต่างก็มีระบบบำบัดน้ำเสียของตนเองที่ต้องได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการขออนุญาตใช้อาคาร
ด้วยแล้ว เมื่อจะต้องมาเสียค่าบำบัดน้ำเสียในอัตราก้าวหน้าถึงลูกบาศก์เมตรละ 8 บาท อันเป็นรายจ่ายสุดซ้ำซ้อนด้วยแล้ว
ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครที่จะออกมาเรียกเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียสุดซ้ำซ้อนข้างต้นคงทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่ได้รับเป็นแน่ และคงจะลุกฮือขึ้นร้องแรกแหกกระเชอให้ กทม. ได้ทบทวนหลักการดังกล่าวใหม่
อย่างน้อย กทม. คงต้องแสดงหลักฐานให้คนกรุงได้ประจักษ์ว่าเงินที่ต้องเสียค่าบำบัดน้ำเสียออกไปนั้น กทม. จะมีการนำไปลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมือบำบัดน้ำเสียที่เป็นรูปธรรมอย่างไร
แค่โชว์ตึก 6 -7 ชั้น ที่สร้างกันอย่างหรูหราอลังการในแต่ละเขตนั้นคงไม่เพียงพอที่จะเป็นเครื่องประกันได้ว่า กทม.ได้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพเพียงพอได้แน่
เพราะกรณีสถานีสูบน้ำหรืออุโมงค์ยักษ์สูบน้ำที่ลงทุนไปเป็นพันๆ ล้านเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา มัน ก็เป็นบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวกันมาแล้ว.
Cr. : เนตรทิพย์ออนไลน์
http://www.natethip.com/news.php?id=483