อุทยานยัน กม.ใหม่เอื้อชุมชนอยู่กับป่า เปิดโซนเก็บเห็ดหาของป่า ตีกันนายทุน

1 min read

 

พิมพ์ไทยออนไลน์ // วันนี้ 02/06/62กรมอุทยานแห่งชาติยัน 2 กม. พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ ปี 62 ไม่ได้สุดโต่งอย่างที่สังคมเข้าใจ ชี้ผ่านการประชาพิจารณ์กำหนดเขตแนวอนุรักษ์ชัดเจน พร้อมกำหนดโซนเก็บเห็ด-หาของป่าให้ชุมชนแบ่งปัน ชี้กันพวกหัวหมอ-นายทุน!

 

 

 

หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้คนโดยทั่วไป

โดยเฉพาะชุมชนโดยรอบอุทยาน หรือมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยว ทับซ้อนอุทยาน ด้วยกฎหมายใหม่ดังกล่าว กำหนดบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง “กรณีลักลอบเข้าพื้นที่อุทยานเก็บเห็ด หรือหาของป่าออกมาอาจได้รับโทษจำคุกถึง 5 ปีปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” นั้น

ผู้บริหารระดับสูงในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” โดยยืนยันว่า พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ที่ประกาศใช้บังคับพร้อมกันนั้น แม้จะกำหนดบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง แต่ก็เป็นไปเพื่อรักษาและอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตลอดจนพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องผลักดันกฎหมายดังกล่าว ก็เนื่องจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติเดิม พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2532 รวมถึง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้นใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่นพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ป่าเขา ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม จึงมีการยกร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ยืนยันมุ่งให้ ”คนอยู่กับป่า”
ทั้งนี้ สาระสำคัญที่มีการแก้ไข บรรจุไว้ในกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับนั้น คือการมุ่งแก้ไขปัญหาคนกับป่า โดยก่อนการยกร่างกฎหมาย คณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมาย ของ สนช. ได้มีการทำประชาพิจารณ์ เรียบร้อยแล้ว มีการตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่ และระดับกรม เพื่อทำการสำรวจ ตรวจสอบ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ มีการจัดทำแนวเขต กำหนดไว้แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่อนุรักษ์ ที่ประกาศก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

หลังจาก กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น ในส่วนแนวเขตบริหารจัดการนั้น จะครอบคลุมพื้นที่ที่มีอยู่ก่อนมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ทั้งที่ได้แจ้งพิสูจน์การครอบครองและตกหล่น รวมไปถึงพื้นที่ที่อยู่หลังมติครม.30 มิถุนายน 2541 แต่อยู่ก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ซึ่งต้องเป็นคนยากจน มีรายได้น้อยและไม่มีที่ทำกิน (รายละเอียด ตามแนวทางที่กรมอุทยานแห่งชาติกำหนด) โดยข้อบัญญัติดังกล่าวปรากฎอยู่ในมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

กำหนดโซนเก็บเห็ด-หาของป่า
ในส่วนประเด็นความกังวลว่า กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่อุทยานนั้น ก่อนการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการทำประชาพิจารณ์ จัดประชุมและสำรวจ กันพื้นที่ อุทยานพื้นที่อนุรักษ์ และกันแนวเขตเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว

นอกจากนี้ในกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ราษฎรท้องถิ่นดั้งเดิม (ชุมชน) ได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้ ที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น เห็ด หน่อไม้ ผัก ผลไม้ป่า เป็นต้น โดยหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่จัดทำโครงการ โดยมีการสำรวจชนิด จำนวน ปริมาณ และระยะเวลาที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ กำหนดเป็นประกาศกระทรวง อนุญาตใช้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่กำหนดนี้ได้ไม่เกิน ครั้งละ 20 ปี (พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ) ขณะที่ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้

“เสียงจากการประชาพิจารณ์ของชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบอุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่ของอุทยาน โดยเฉพาะประเด็นการใช้ประโยชน์ในผืนป่าของชุมชน ซึ่งจะมีการกันพื้นที่หรือจัดโซนนิ่งสำหรับเก็บของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ผลไม้ป่า และพืชต่าง ๆ เช่น อุทยานบางแห่งอาจจะจัดโซนนิ่งเป็นพื้นที่เก็บเห็ดของชาวบ้านและชุมชนเอาไว้ ตามแต่ที่ชุมชนและ คณะกรรมการพิจารณา เห็นร่วมกันว่าจะ กันไว้เป็นจำนวนกี่ไร่ ตามความเหมาะสม ของแต่ละชุมชน เมื่อกำหนดพื้นที่ชัดเจน ชาวบ้านก็สามารถเก็บเห็ดหรือของป่าโดยไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญจะช่วยป้องกันชาวบ้านบางรายที่เป็นพวกหัวหมอแอบเข้าไปล่าสัตว์หรือลักลอบตัดไม้หวงห้ามในป่า แต่พอเจ้าหน้าที่จับตัวได้กลับมาอ้างว่า เข้าไปเก็บเห็ด ซึ่งในพื้นที่มีปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น” เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานแห่งชาติรายหนึ่งกล่าว

โดยข้อบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ในมาตรา 65 พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ศ.2562 และมาตรา 57 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยราษฎรที่ได้รับอนุญาตตามประกาศดังกล่าว เมื่อดำเนินการใดๆ ภายใต้ข้อกำหนด ก็ไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ

นอกจากนี้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติใหม่ดังกล่าว ยังมีบทบัญญัติ เอื้อต่อการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบพื้นที่ อุทยานหรือพื้นที่อนุรักษ์โดยมีการเพิ่มเติม ให้มีการแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ที่เกิดขึ้น แจ้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่น อาทิ เทศบาล อบต. เพื่อใช้ในการดำเนินการส่งเสริมงานด้านอนุรักษ์ต่างๆ ด้วย (มาตรา 30)

“ขณะนี้ในพื้นที่ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นด้านการอุทยาน กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ มีปัญหาการกำหนดแนวเขตหรือพื่นที่ทำกินของชาวบ้านไม่ชัดเจน จึงเกิดการบุกรุก แผ้วถาง เวลาเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปตรวจเจอปัญหานี้เยอะมาก ถ้ามีการกำหนดโซนนิ่งชัดเจน พื้นที่ไหนให้ชุมชนหรือชาวบ้านทำประโยชนได้ ชาวบ้านก็อยู่กับป่าได้ ไม่ต้องวิ่งลงจากดอยหนีเจ้าหน้าที่อีก ที่สำคัญเมื่อกำหนดเขตอุทยานชัดเจน กำหนดโซนนิ่งให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าชัดเจน คนก็อยู่กับป่าได้ และยังเป็นการป้องกันบรรดานายทุนเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าได้อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญอีกประการของกฎหมายฉบับใหม่ยังให้มีการจัดสวัสดิการสำหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยกำหนดให้มีการกันเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากรายได้จัดเก็บของอุทยาน สวนพฤษศาสตร์ สวนรุกชาติ ฯลฯ ให้สามารถ น้ำมาช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่อุทยานหรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ทั้งกรณีบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตหรือแม้กระทั่งต่อสู้คดี

เพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อฟื้นฟู
ส่วนการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ อุทยาน พื้นที่อนุรักษ์ สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ นั้น มีเป้าหมายเพื่อลดการบุกรุกทำลายและแสวงหาประโยชน์

โดยกำหนด ให้มีสินบนนำจับและเพิ่มโทษในฐานความผิดต่างๆ (ยกเว้น ชุมชนและราษฎร ตามที่กล่าวข้างต้น) ซึ่งการเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมขอใช้ประโยชน์ต่างๆ นั้น ก็เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงและฟื้นฟู สภาพ ธรรมชาติหลังการอนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่

“ยอมรับว่า หลังประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ผู้คนโดยทั่วไป ต่างมีความกังวลค่อนข้างรุนแรง แต่ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น ก่อนการผลักดันการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ ตั้งค่ณะทำงาน ร่วมกับทุกภาคส่วน ทำการสำรวจ ปักปันแนวเขตต่างๆ เอาไว้แนบท้ายพระราชบัญญัติอยู่แล้ว และหลังจากนี้ หัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ จะลงพื้นที่เพื่อสร้างความรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่และทุกภาคส่วน ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ในอีก 180 วันข้างหน้า” ผู้บริหารกรมอุทยานฯกล่าวในที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
– เก็บเห็ด-ของป่า คุก 5 ปี ปรับ 5 แสน กม.ใหม่อุทยานโทษหนัก แค่ถ่ายสารคดี เซลฟี่ผิดที่ผิดทาง อาจเจอโทษหนัก (http://www.natethip.com/news.php?id=429)
– รู้ยัง!เก็บของป่า-หาเห็ดในอุทยาน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 100,000บาท (http://www.natethip.com/news.php?id=432)

Cr. : เนตรทิพย์ออนไลน์
http://www.natethip.com/news.php?id=439

You may have missed