สื่อตกงานต้องอ่าน ”เออร์รี่รีไทร์”…ความหวังดีแต่ (ประสงค์) ร้ายของบริษัท !
1 min read
พิมพ์ไทยออนไลน์ // ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ ได้สัมภาษณ์เพื่อนสื่อตกงานรายหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับทางกฎหมายการจ้างงาน หลังออกจากงานในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยระบุว่า จากกระแสทำลายล้าง (Disruption) ของเทคโนโลยีดิจิทัล และสื่อในโลกอินเตอร์เน็ต ยังคงแผ่ซ่านเข้าไปยังธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ ”สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี” ที่กำลังหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง
ในอนาคตอันใกล้นี้ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่แจ้งความจำนงค์ จะขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการต่อ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นั้น ก็นัยว่าจะทำให้ ”คนข่าวและผู้ปฏิบัติงานในช่องทีวีดิจิทัลเหล่านี้ อาจต้องตกงานไม่น้อยกว่า 2,000 ชีวิต”
บางช่องก็เริ่มเปิดโครงการ “จำใจจากจร” หรือ “จากกันด้วยดี” เปิดทางให้คนข่าว คนทีวี หรือผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องการจะ “เออรี่รีไทร์” ลาออกก่อนกำหนดได้แสดงความจำนง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้มาตรการเข้มข้น “จิ้มออก” ในภายหลัง
พนักงานผู้ปฏิบัติงานบางคนนั้นก็เต็มใจออก หรืออยากเจอรีไทร์จริงๆ ซึ่งก็คงมีไม่น้อย จะด้วยวัย อายุอานามหรือเพราะยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลานอย่างจริงๆ จังๆ ก็มี
แต่ก็มีอีกไม่น้อย ที่ยังคงมีภาระรับผิดชอบ ยังมีอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแล แต่เมื่อกระแสดิสรับ ย่างกรายเข้ามาถึงตัว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะต้องถูกจิ้มออกหรือตกงานโดยไม่รู้ตัว
ในแง่ของธุรกิจหรือบริษัทที่ต้องเปิดโครงการเออรี่รีไทร์จำใจพรากหรือจำใจจาก ก็คาดหวังจะให้พนักงานที่ต้องจากกันก่อนเวลาอันควรนี้ไปได้ดิบได้ดี ไปที่อื่นๆ บางบริษัทนั้นแทบจะทำจดหมายหรือใบผ่านงานที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของพนักงานที่ต้องเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ชนิดที่เรียกว่า อ่านแล้วน้ำตาไหลพราก เกือบไปสมัครงานที่ไหนก็แทบจะคว้าตัวไปทันที
แต่หารู้ไหม ความหวังดีของบริษัทในการเปิดโครงการจำใจพราก ให้พนักงานลาออก ก่อนกำหนดนั้น มันเป็น ”ดาบสองคม” ที่ทำให้การเรียกร้องค่าชดเชย จากการตกงาน ตามกฎหมายแรงงานนั้น ถูกได้สิทธิ์หรือริดรอนลงไปโดยอัตโนมัติ
ใบลาออก ใบผ่านงาน ที่พนักงานจักต้องนำไปแสดงยื่นความจำนงขอรับเงินชดเชย การว่างงานและขาดรายได้จากการตกงานต่อสำนักงานประกันสังคมนั้น ในกรณีที่บริษัทประทับตราว่า เป็นการลาออกอย่างเต็มใจ หรือเข้าโครงการลาออกจากสมัครใจไม่ได้เป็นการถูกปลดออกหรือไล่ออกจากบริษัทนั้น แม้จะยังความรู้สึกที่ดีต่อพนักงานผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ แต่มันก็เป็นดาบสองคมที่ในด้านหนึ่งนั้น กลับทำให้หนทางที่จะได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน แทนจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามกฎหมายแรงงาน
เพราะตามข้อกฎหมายประกันสังคมนั้น กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคิดคำนวณจากฐานเงินสมทบประกันสังคมขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานเดือนละ 5,000 บาท
แต่หากเป็นกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งหากผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น
เพราะฉะนั้น กรณีของสื่อต่างๆ ที่กำลังทยอยเลิกจ้าง นักข่าว ผู้ปฏิบัติงานทีวี ก่อนที่จะก้าวออกจากบริษัท ควรจะได้สอบถามฝ่ายบริหารและฝ่ายบุคคลให้เรียบร้อยสักนิด หนังสือแจ้งการลาออกที่บริษัทจะส่งไปยังสำนักงานประกันสังคมนั่นมีข้อความว่าอย่างไร?
หากหวังดีและปรารถนาดีกับเราจริง ก็ควรจะประทับตราไปเลยว่า “เลิกจ้าง หรือให้ออก เพราะยุบแผนก ยุบเลิกกิจการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบทำงาน ทำให้ต้องเลิกจ้าง” ก็ว่าไป
เพราะหากไปปรารถนาดีว่า ”เป็นการลาออกอย่างสมัครใจสุดใจขาดดิ้น” แล้ว แทนจะเป็นผลดีกับพนักงานที่จะได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 50% ของฐานรายได้เฉลี่ยเป็นเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน ก็จะเหลืออยู่แค่ 30% ของค่าจ้างเฉลี่ยในระยะเวลาแค่ 90 วัน หรือ 3 เดือนเท่านั้น
ทางที่ดีจึงควรทำความตกลงกับบริษัทหรือนายจ้างซะให้เรียบร้อย ช่วยกรุณาทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคม หรือสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ตั้งทีเถอะว่า ปลดหรือเลิกจ้างอิฉัน ไม่ต้องมาปรารถนาดี ลงชื่อให้หรูว่า ลาออกโดยสมัครใจเลยค้า…
ระยะเวลาแค่ 3 เดือนมันผ่านไปไวเหมือนพรรคการเมือง (บางพรรค) นะจะบอกให้ !
Cr. : เนตรทิพย์ออนไลน์
http://www.natethip.com/news.php?id=427