ปิดฉากวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” เปิดฉากทบทวน “รับประกันวินาศภัย”
1 min read
พิมพ์ไทออนไลน์ // เหยื่อวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการ “สาดโคลน” ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในสัญลักษณ์ “คนเสื้อแดง” ว่าเป็น “ผู้
ก่อการร้าย” บ่อนทำลายบ้านเมือง…ด้วยการราดน้ำมันและจุดไฟเผาบ้านเมืองไทยเท่านั้น
หากแต่เจ้าของ-ผู้ถือหุ้น, ผู้บริหารทุกระดับ และพนักงานทุกตำแหน่งของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ อันเป็นพื้นที่ “จุดเผากลางเมือง” รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ย่าน ถ.รัชดาฯ และที่อื่นๆ ต่างก็ได้รับผล
กระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น…ไม่ต่างกันนัก
เหตุเพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ “เผาบ้านเผาเมือง” เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ได้เผาทำลายทั้งตัวอาคารสำนักงานบางส่วน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นห้างสรรพสินค้า และธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในตัวอาคารทั้ง 2 แห่ง
และยังทำลายโอกาสในการทำการค้าและธุรกิจของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปพร้อมกันด้วย
ในวันที่ “ฟ้าเปลี่ยนสี” เมื่อศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.4326/54 เมื่อวันที่ 1 มี.ค.62 ระบุชัดว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ปรากฏชัดว่า เป็นการ
กระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือสั่งการจากแกนนำคนใด แต่อย่างใด?
ดังนั้น จำเลย คือ บมจ.เทเวศประกันภัย จะต้องชดใช้ค่าความเสียหายจากกรณีเหตุไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างการกระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ให้แก่โจทก์และพวก ประกอบด้วย กองทุน
รวมธุรกิจไทยสี่ (โจทก์ที่ 1) รวมถึง บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (โจทก์ที่ 2), บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ (โจทก์ที่ 3) และบริษัทห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด (โจทก์ที่ 4)
โดยพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทุกชนิด ให้แก่โจทก์ทั้ง 4 หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นเงิน 2,719,734,975.29 บาท และให้จำเลยชำระค่าสิน
ไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้แก่โจทก์ที่ 1 และ 3 เป็นจำนวนเงินอีก 989,848,850.01 บาท
ตามมาด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.62 หรือในอีก 2 เดือนต่อมา โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หมายเลขดำ 8132/2561 ในคดีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่ง
ประเทศไทย บริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทแฟมิลี่ โนฮาว จำกัด โจทก์ ที่ 1-3 ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 6 ประกอบด้วย บมจ.นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ (จำเลยที่ 1), บมจ.ทิพยประกันภัย
(จำเลยที่ 2), บมจ.ฟอลคอลประกันภัย (จำเลยที่ 3), บมจ.กรุงเทพประกันภัย (จำเลยที่ 4), บมจ.เทเวศประกันภัย (จำเลยที่ 5) และบมจ.เมืองไทยประกันภัย (จำเลยที่ 6)
โดยศาลฎีกาสั่งให้จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันชดเชยค่าสินไหมทั้งหมดเป็นเงิน 98.057 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 จนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้ง 3 จนกว่าจะครบทั้งจำนวน ทั้งนี้
จำเลยทั้ง 6 มีสัดส่วนการรับประกันภัยดังนี้ จำเลยที่ 1 ร้อยละ 30 จำเลยที่ 2 ร้อยละ 20 จำเลยที่ 3 ร้อยละ 15 จำเลยที่ 4 ร้อยละ 15 จำเลยที่ 5 ร้อยละ 10 และจำเลยที่ 6 ร้อยละ 10
ถึงตรงนี้…ค่าเสียหายที่เคยเกิดกับ “คนเสื้อแดง” ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลับตกไปเป็นของบริษัทประกันภัยเต็มๆ
ขณะที่ “ตัวการสำคัญ” หรือกลุ่มคนที่ศาลชี้ว่า…น่าจะเป็น “คนลงมือเผาฯ” เพราะมีการ “ปิดบังใบหน้า” ด้วยหวังผลให้เกิดความเสียหายและป้ายความผิดไปให้ กลุ่ม นปช. ที่ต่อต้าน “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ในขณะนั้น
และที่สำคัญการก่อเหตุ “เผาบ้านเผาเมือง” เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่ทหารได้เข้าสลายการชุมนุมและควบคุมพื้นที่ทั้งหมดแล้วนั้น…แต่กลับไม่มีการ “สาวไส้” ไปจนถึงคนกลุ่มนี้แต่อย่างใด?
ตราบใดที่อายุความยังไม่หมดลงไปนั้น หากถึงวันที่ “ฟ้าเปลี่ยนสี” ได้มากและแรงกว่านี้ เชื่อว่า…คนผิดจะต้องถูกนำมาตัวลงทัณฑ์อย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่แค่เพียงคดี “เผาบ้านเผาเมือง” หากยังมีผู้ชีวิตของผู้
ชุมนุมอีก 99 คน ที่ต้องสูญเสียไประหว่างเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง รวมถึงอีกว่า 2,000 คน ที่ได้รับบาดเจ็บหนักเบาแตกต่างกัน แต่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ อีกด้วย
หันมาดูทางฝั่งของบริษัทประกันภัย จากที่เคยคิดว่า…ตัวเองจะ “รอด” ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าสินไหมให้กับโจทก์ “ผู้เอาประกัน” ด้วยมั่นใจใน “เกมอำนาจ” และ “ศักยภาพ” ของคนบางกลุ่ม? ทว่าหลังจากที่
ศาลแพ่ง และศาลฎีกา มีคำสั่งให้บริษัทประกันภัย ต้องชดเชยค่าสินไหม แก่ทั้งเหตุการณ์ “เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์” และ “เผาตลาดหลักทรัพย์ฯ” เป็นเงินรวมกันเกือบ 4,000 ล้านบาทนั้น
จึงเป็นสิ่งที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในยุคที่มีเลขาธิการ คปภ. ชื่อ “ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ” จะต้องลงมาแก้ปัญหาใหญ่ปมนี้ ก่อนที่จะไม่มีบริษัทประกันภัยรายใด
หาญกล้ามารับประกัน “วินาศภัย” ให้กับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยเกรงจะเจอแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นเหตุการณ์ “เผา” ทั้งห้างเซ็นทรัลเวิลด์และตลาดหลักทรัพย์ฯ กระทั้ง สุดท้ายและท้ายสุด กลายเป็น
บริษัทประกันภัย ที่กลายสภาพเป็น “แพะ” ให้ตัวการผู้อยู่เบื้องหลัง “เผา” ตัวจริง
ล่าสุด เลขาธิการ คปภ. ได้ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตอนหนึ่ง ซึ่งมีสาระสำคัญว่า…“เหตุความเสียหายต่อทรัพย์สินตามฟ้อง เป็นผลมาจากมีกลุ่มบุคคล
บุกรุกเข้าไปในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร จนทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่อยู่ภายในอาคารและตัวอาคารดังกล่าวได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวจึง
เป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้และการกระทำด้วยเจตนาร้าย ซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ขณะที่ทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายรับฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้อาคารเกิดขึ้นตอน 15.00 น. ภายหลังแกนนำประกาศยุติชุมนุมตอน 13.00 น. ตลอดจนผู้ก่อเหตุทุบทำลายและเผาอาคารก็มีประมาณ 10 คน
ทั้งเป็นกลุ่มบุคคลที่ปิดบังอำพรางใบหน้า และกลุ่มที่ทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนอื่นใดร่วมกระทำการ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุ
เพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหก ดังนั้น จำเลยทั้งหกจึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้น
ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน”
เลขาธิการ คปภ. ย้ำว่า สำนักงาน คปภ. มีความเห็นในเบื้องต้นว่า…จำเป็นจะต้องศึกษาและวิเคราะห์โดยละเอียดว่า จะต้องนำคำวินิจฉัยนี้มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตาม
สัญญาประกันภัยหรือไม่? เนื่องจากข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งหากข้อเท็จจริงมีความคล้ายคลึงกัน อาจจำเป็นต้องใช้เกณฑ์ที่เหมือนกัน จึง
ได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดี เร่งศึกษาวิเคราะห์โดยเร็วเพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เงื่อนไขความคุ้มครอง และข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัยให้เกิดความชัดเจน เป็นธรรม
และเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“คำพิพากษาศาลฎีกา ถือเป็นคำพิพากษาที่มีลำดับชั้นสูงสุดและเป็นที่ยุติ ซึ่งบริษัทประกันภัย ทั้ง 6 บริษัท ต้องเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว อย่างไรก็ตามจาก การตรวจสอบพบว่าทั้ง 6 บริษัท
ประกันภัยมีฐานะการเงินมั่นคง และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาดังกล่าวได้มีการตั้ง Outstanding Loss ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2553 จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท” เลขาธิการ
คปภ.ย้ำ
นี่ก็เพิ่งจะผ่านพ้นปีที่ 9 ของเหตุการณ์ “สลายการชุมคนเสื้อแดง” เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งหมดน่าจะเป็นบทเรียนและเครื่องสะท้อนความสูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี
เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือแนวร่วมผู้ชุมนุม รวมถึงธุรกิจห้างร้านที่อยู่ใกล้สถานที่ชุมนุมฯ แม้กระทั่ง บริษัทประกันภัย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ “เผาบ้านเผาเมือง” ที่ถูกสร้างมาเพื่อ
ทำลายและทำร้ายเพื่อนร่วมชาติ
ซึ่งไม่แน่ว่า…ถึงวันหนึ่ง “ตัวการ-ตัวจริง” จะรอดพ้นอาญาแผ่นดินได้หรือไม่?
กระนั้น “กฎหมาย” จะตามไปเอาผิดคนกลุ่มนั้นได้หรือไม่? “สำนักข่าวเนตรทิพย์” คงตอบไม่ได้ แต่ที่มั่นใจอย่างแรง ก็คือ “กฎแห่งกรรม” ที่ใครก็ตาม “ก่อกรรมทำเข็ญ” เอาไว้…สิ่งนี้ จะตามไปชำระคืนได้อย่าง
แน่นอน ขึ้นกับว่า…มันจะเร็วหรือช้าแค่นั้น!!!.
Cr. : เนตรทิพย์ออนไลน์
http://www.natethip.com/news.php?id=368