ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวน
1 min read
พิมพ์ไทยออนไลน์ // ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 พฤษภาคม) ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดปรับตัวผสมผสาน โดยตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดี
ทรัมป์ จะชะลอการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป และญี่ปุ่นออกไปอีก 6 เดือน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังได้แรงหนุนจาก GDP ในไตรมาส 1/2562 ของญี่ปุ่นที่ขยายตัวมากกว่าคาด ด้านตลาดหุ้นโซน
เอเชียปรับลดลง นำโดยตลาดหุ้นจีน เนื่องจาก ความกังวลเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่รุนแรงขึ้น หลังจีนประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ
ทยอยประกาศระงับการทำธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย ด้านราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ที่ว่า อุปทานน้ำมันตลาดโลกอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และกลุ่มโอเปกได้
แสดงความต้องการขยายเวลาปรับลดการผลิตไปจนถึงปลายปีนี้ ในขณะที่ ราคาทองคำปรับลดลง เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกจากสัปดาห์ก่อน แต่ยังได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้นำบริษัท หัวเว่ย และบริษัทในเครือ เข้าร่วมในบัญชีรายชื่อของบริษัทด้านการ
สื่อสารโทรคมนาคม ที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ เข้าซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก หลังรัฐบาลของ ประธานาธิบดี ทรัมป์ จะชะลอการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรปออกไปอีก 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลง จากความกังวลสงครามการค้า
ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และจากประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit)
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวกเล็กน้อย เนื่องจากตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/2562 ของญี่ปุ่นขยายตัว 2.1%YoY มากกว่าคาด และนักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า นายกฯ อาเบะ อาจเลื่อนการปรับขึ้นภาษีการ
บริโภคในเดือน ต.ค.ออกไป
ตลาดหุ้นจีน ปรับลดลง จากการที่จีนประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ อยู่ที่ 25% จาก 10% และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ ทยอยประกาศระงับ
การทำธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย ซึ่งถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นไทย ปิดลบตามตลาดหุ้นหลัก ๆ ของโลก จากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
ตลาดน้ำมัน ปิดบวก จากการคาดการณ์ที่ว่า อุปทานน้ำมันตลาดโลกอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และกลุ่มโอเปกได้แสดงความต้องการขยายเวลาปรับลดการผลิตไปจน
ถึงปลายปีนี้
ตลาดทองคำ ปิดลดลง เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น แม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ก็ตาม
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
• ติดตามความไม่แน่นอนจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก 1) จีนประกาศตอบโต้สหรัฐฯ โดยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ
มีผล 1 มิ.ย.นี้ 2) สหรัฐฯ เตรียมทำประชาพิจารณ์ สำหรับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนส่วนที่เหลือ 3 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ (17 มิ.ย.) 3) สหรัฐฯ บังคับใช้ข้อห้าม ที่เรียกร้องประเทศอื่น ๆ ไม่ให้ใช้
เทคโนโลยีของบริษัท หัวเว่ย ในเครือข่าย 5G เนื่องจาก เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ แม้ ประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุว่า มีแผนที่จะหารือกับ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ในการประชุม G20 ที่ญี่ปุ่นก็ตาม
• การเลือกตั้งสภายุโรป ในวันที่ 23-26 พ.ค.นี้ คาดว่า พรรคการเมืองที่เน้นประชานิยม และไม่สนับสนุนการรวมตัวของสหภาพยุโรป อาจได้รับที่นั่งในสภามากขึ้น ทำให้ความผันผวนในยุโรปสูงขึ้น และ
อาจกดดันเงินยูโรอ่อนค่า
• การเลือกตั้งทั่วไปขั้นสุดท้ายของอินเดียได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 19 พ.ค. และจะเริ่มนับคะแนนในวันที่ 23 พ.ค.นี้ คาดว่า พรรคภารติยะ ชนะตะ (BJP) ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดิ จะได้รับชัยชนะ
อีกสมัย
• นักลงทุนรอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อ และรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะมีการเรียก
ประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 พ.ค.นี้ หลังจากนั้น จึงมีการเลือกประธานสภา และประธานวุฒิสภา แล้วจึงสรรหานายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศต่อไป
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยกดดันจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงที่จะปรับลดลง หากการเจรจาการค้าระหว่าง
ทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ และจีนออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อประเด็น Brexit หลังการเจรจาระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมของ นางเทเรซา เมย์ และพรรคแรงงาน
ของนายเจเรมี คอร์บิน (พรรคฝ่ายค้าน) ประสบความล้มเหลว และ ติดตามผลการเลือกตั้งของสภายุโรป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมัน และหุ้นกลุ่มพลังงานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จาก ความกังวลอุปทานน้ำมันตึงตัว
หลังความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซียสูงขึ้น
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
– ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ GDP ในไตรมาส 1/2562 ของญี่ปุ่น และไทย / ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน / รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ / ยอดส่งออก-นำเข้าของไทย และญี่ปุ่น / ดัชนี
ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น / ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น
– เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน / การเลือกตั้งสภายุโรป / การเลือกประธานสภา และประธานวุฒิสภาของไทย.
Cr. : เนตรทิพย์ออนไลน์
http://www.natethip.com/news.php?id=364