รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดโรงงานแบตไฟฟ้าใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน “อมิตา” พร้อมก้าวสู่โลกพลังงานสะอาดแบบครบวงจร (ชมคลิป)

1 min read

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดโรงงานแบตไฟฟ้าใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน “อมิตา” พร้อมก้าวสู่โลกพลังงานสะอาดแบบครบวงจร

วันนี้ (12 ธ.ค.2564) ที่ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิธี เปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ทันสมัย มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคอาเซียน โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีพลังงาน รองศาสตราจารย์.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฉะเชิงเทรา พร้อม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี


นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน-พลังงานไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ออกแบบให้โรงงานแห่งนี้ใช้ระบบที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตได้ง่ายขึ้น เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีในอนาคต อีกทั้งโรงงานยังเน้นแนวคิดที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต มุ่งเน้นการรีไซเคิลในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า20ปี


ทั้งนี้ กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ได้เข้าร่วมทุน ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงานจนเป็นผลสำเร็จ ผ่านบริษัทย่อยภายใต้ ชื่อ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่มากขึ้นในระดับ World Class เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เมื่อหมดอายุการใช้งาน นำไปรีไซเคิล ด้วยการคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่าย เพราะเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้แบตเตอรี่ของอมิตายังออกแบบให้เข้ากันกับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ ที่จะเป็นจุดเด่นสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด”


แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า เพื่อช่วยในการลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ผลิตได้ในระยะเริ่มต้น ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล


โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบสำรองไฟฟ้าแห่งนี้ ของกลุ่มพลังพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ภายใต้ชื่อ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งระยะแรกนี้มีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันที มีพื้นที่การผลิตภายในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะ และระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนไม่สูง ฐานการผลิตที่สำคัญนี้อยู่ในเขต EEC มีขนาดพื้นที่กว่า 90 ไร่ ที่พร้อมรองรับการขยายการลงทุนของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานได้กว่า 10 เท่า สู่กำลังการผลิตสูงสุดของภูมิภาคอาเซียนที่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของ New S Curve ได้อย่างสมบูรณ์ในที่สุด

 

You may have missed