“เกษตรกรภาคกลาง” เอาด้วยขานรับ “รวมไทยสร้างชาติ” ผนึกหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สนองพระราชดำริในหลวง

1 min read

“เกษตรกรภาคกลาง” เอาด้วยขานรับ “รวมไทยสร้างชาติ” ผนึกหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สนองพระราชดำริในหลวง

 


วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ณ ร้านกาแฟอเมซอน ซอย วิภาวดี 64 เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายอานนท์ แสนน่าน ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย ,นายองอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นไทย ,พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย ,นางธนภัทร พันธวาส ประธานเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งประเทศไทย ,นายสมชัย แสงทอง รองประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทยภาคเหนือ

,นางนิตยา นาโล รองประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทยภาคอีสาน พร้อมคณะผู้บริหาร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจ ร่วมประชุมหารือการปรับเปลี่ยน “หมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทย” ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จาก “ร.9 ถึง ร.10 สู่ผองไทยทั่วแหล่งหล้า สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา”


นายอานนท์ แสนน่าน ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น เรารักประเทศไทย ได้กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชัด จะปรับปรุงการทำงานของรัฐบาลเป็นแบบ “วิถีปกติใหม่” หรือ “New Normal” แบ่งเป็น 3 แนวทางหลัก คือ 1.ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย เปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลจากนโยบายต่างๆได้มีส่วนร่วม รัฐบาลต้องได้ยินเสียงของประชาชน และรับฟังความคิดเห็นประชาชนให้มากขึ้น

2.การประเมินผลงานภาครัฐ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีบทบาทในการประเมินผล และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่างๆของภาครัฐ ให้ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลได้รับทราบโดยตรงได้ด้วย และ 3.การทำงานเชิงรุกในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยรัฐบาลจะกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนายกฯจะติดตามกำกับดูแลด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด


นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้เอง ตนจึงได้ประสานงานกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อมาร่วมกับทาง “เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย” จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพราะว่าที่ผ่านมาเกษตรกรที่ประกอบอาชีพในด้านต่างๆ มีการประกอบกิจการโดยชุมชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งด้านการผลิต การค้า และการเงิน และต้องการใช้ปัจจัยการผลิตนี้ให้เกิดดอกผลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านเศรษฐกิจ คือ การสร้างรายได้และอาชีพ ด้านสังคม คือ การยึดโยงร้อยรัดความเป็นครอบครัวและชุมชนให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ แบ่งทุกข์แบ่งสุขซึ่งกันและกัน โดยผ่านกระบวนการของชุมชน แต่เกษตรกรยังขาดปัจจัยในการผลิตสินค้าทางการเกษตรขอขาดงบประมาณการช่วยเหลือจากภาครัฐ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง


เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นระดับประเทศไทยจึงได้นำเสนอ โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร หรือ กปจ.กษ. พร้อมกับขอความช่วยเหลือต่อทาง ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่รับความเดือดร้อนในช่วงสภาวะวิกฤติไวรัส covid-19 ระบาด และทางรัฐบาลเองก็พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตามนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ”

You may have missed