เชิญ..ชม ชิม ช็อป..แบบชิลชิล! เทศกาล ”ทุเรียนดินภูเขาไฟ”
1 min read
พิมพ์ไทยออนไลน์ // ในที่สุด ก็ถึงเดือน มิถุนายน ซึ่งเป็นห้วงแห่งวันเวลาที่รอคอยของ ”คนรักทุเรียน” โดยเฉพาะ ”ทุเรียนดินภูเขาไฟ” ที่ขึ้นชื่อถึงเรื่องรสชาติอันแสนอร่อยเหาะ ”กรอบนอก นุ่มใน หวานน้อย เนื้อไม่ติดมือ กลิ่นไม่แรง” แม้บางคนจะเปรียบเปรย ”ราชาแห่งผลไม้” อย่างทุเรียนได้เห็นภาพชัดว่า “กลิ่นเหม็นนรก แต่รสชาติดุจสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” ทำให้ทุเรียน เป็นที่ชื่นชอบของคนไทย และคนต่างชาติเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
กว่าจะเป็นทุเรียนดินภูเขาไฟ
ในฤดูกาลผลิตทุเรียนดินภูเขาไฟระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของปีนี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะเส้นทางการผจญภัยของทุเรียนดินภูเขาไฟ ทั้งพันธุ์ยอดนิยม ”หมอนทอง” พันธุ์พวงมณี
พันธุ์ชนะชี พันธุ์ก้านยาวและพันธุ์ใหม่ๆ อย่าง นกกระจิบหรือมูชานคิง อันเลื่องชื่อของทุเรียนมาเลเซีย ก็เริ่มนำมาทดลองปลูกในผืนแผ่นดินภูเขาไฟเก่า ณ บ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัด
ศรีสะเกษกันแล้ว ก็ต้องนับถอยหลังอีกไม่นาน จะได้ลองชิมรสชาติกัน
การผจญภัยของทุเรียนดินภูเขาไฟในปีนี้ เริ่มตั้งแต่ก่อนต้นทุเรียนจะผลิดอก เกิดสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง ในพื้นที่ปลูกทุเรียนดินภูเขาไฟอากาศหนาวถึงหนาวมาก และหนาวกินเวลานาน จนส่งผล
กระทบต่อการผลิดอกของทุเรียน จนในที่สุดสภาพอากาศอันเลวร้ายก็ผ่านไป
จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูร้อนช่วงปลายมีนาคม-เมษายน สภาพอากาศร้อนถึงร้อนมากๆ ..ร้อนถึงขั้นทำให้ลูกทุเรียนที่กำลังโตขนาดเท่ากำปั้นหล่นกองเต็มพื้น แถมยังเกิดปรากฏการณ์แปลกในพื้นที่ เพราะเดิมทีใน
พื้นที่จากที่อุดมสมบูณ์ไปด้วยแหล่งน้ำจากเหมืองหินและแหล่งน้ำจากใต้ดินหรือน้ำบาดาล เริ่มขาดน้ำที่ใช้ในการรดสวนทุเรียน
“ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้รดสวนทุเรียนในปีนี้รุนแรงมาก แหล่งน้ำจากเหมืองหินหยุดส่งน้ำลงคลองธรรมชาติ เพราะมีปัญหาบางอย่าง ส่วนน้ำใต้ดินเริ่มสูบไม่ขึ้น อาจเป็นเพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนมากขึ้น ทำ
ให้ชาวสวนต้องแย่งกันสูบน้ำใต้ดินกันมากขึ้น จึงทำให้แหล่งน้ำใต้ดินลดน้อยลง จนถึงขั้นชาวสวนต้องลงทุนขุดบ่อกลางสวนทุเรียน เพื่อสูบน้ำใต้ดินมาพักเก็บเอาไว้ ก่อนจะสูบน้ำไปรดสวนทุเรียนอีกที เรียกได้ว่า
งานนี้เสียค่าไฟสองต่อ ซึ้งถ้าไม่ทำอย่างนี้ จะไม่มีน้ำเพียงพอในการรดสวนทุเรียน และปีนี้ต้องลงทุนค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงเยอะมาอีกด้วย” เจ้าของสวนทุเรียนดินภูเขาไฟรายหนึ่งกล่าว
จากการสะท้อนปัญหาของการทำสวนทุเรียนดินภูเขาไฟดังกล่าว กับคำพูดที่ว่า ”การทำสวนทุเรียนต้องลงทุนสูง ดูแลยาก จึงเปรียบการทำสวนทุเรียนเหมือนต้องดูแลลูกสาวสวยเป็นอย่างดี” จึงไม่ได้เกินเลย
ไปนัก!
พายุถล่มสวนทุเรียนดินภูเขาไฟ
ข่าวร้ายๆ ของชาวสวนทุเรียนดินภูเขาไฟในปีนี้ ยังมีให้เห็น เพราะเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุฤดูร้อนรวมตัวกลายเป็น ”พายุหมุน” พัดถล่มสวนทุเรียนดินภูเขาไฟชนิดราบเป็นหน้ากลอง
สวนทุเรียน 10-20 สวน ที่มีลูกทุเรียนเต็มต้นพร้อมตัดขายล็อตแรกร่วงหล่นระเนระนาด ลูกทุเรียนหล่นกองเต็มพื้น บางสวนทุเรียนหล่นร่วม 20-30 ตัน หรือ 10,000-30,000 กิโลกรัม ทำให้เงินล้านที่
เห็นกองอยู่ตรงหน้า..หายวับไปกับตา!
ความรุนแรงของพายุหมุนฤดูร้อนร่อนที่พัดถล่มสวนทุเรียนดินภูเขาไฟในครั้งนี้ “โอวาส บุญวัน” เจ้าของสวนโชคสมปอง สะท้อนความเสียหายให้ฟังว่า ”ทุเรียนในสวนโชคสมปองหล่นเสียหายประมาณ 30 ตัน
ต้นทุเรียนขนาดใหญ่อายุ 20-25 ปี ถูกพายุพัดถล่มหักโค่น ต้นทุเรียนบนพื้นที่ 20 ไร่ ฉีกขาด 200 กว่าต้น ทำให้สวนทุเรียนแห่งนี้เสียหายอย่างรุนแรง จากสวนแห่งนี้ที่เคยผลิตทุเรียนได้ถึง 85 ตันหรือ
85,000 กิโลกรัมในแต่ละปี”
ขณะที่สวนทุเรียนดินภูเขาไฟ ”โคตรมงคล” ก็หลีกเลี่ยงชะตากรรมครั้งนี้ไม่พ้น โดย ”บุญชอบ โคตรมงคล” เล่าว่า ”ในวันที่พายุถล่มสวนทุเรียนน่ากลัวมาก มีเมฆทะมึนดำปกคลุมไปทั่วพื้นที่ จู่ๆ ก็เกิดฝนตกลง
มา ก็ดีใจเพราะช่วงนั้นขาดแคลนน้ำรดสวนทุเรียนพอดี แต่ดีใจได้ไม่นาน ท่ามกลางสายฝน มีมฤตยูดำทะมึนก่อตัวเป็นพายุหมุนซัดต้นทุเรียนหักโค่น ดัง ครืน ครืน ครืน..ปัง ปัง ปัง..เสียงดังเหมือนฝูงช้างป่าตื่น
อะไรสักอย่าง จึงวิ่งชนต้นไม้หักระเนระนาด ทำให้สวนโคตรมงคลเสียหาย ต้นทุเรียนหักโค่น 30 ต้น”
โดยเฉพาะที่น่าเศร้าใจคือ ทุเรียนพร้อมตัดล็อตแรก 3-4 ตัน มูลค่า 1,200,000 บาท หล่นกองเต็มพื้น ทั้งๆที่นัดเถ้าแก่มาวางเงินแล้วในอีก 2 วันข้างหน้า พายุพัดถล่มทุเรียนครั้งนี้ จึงนำทุเรียนที่หล่นมาขาย
ปลีกแทน ถ้าทุเรียนแก่ขายกิโลกรัมละ 65-70 บาท บางส่วนนำมาทำทุเรียนกวน ทุเรียนเฟรนช์ฟรายส์ ส่วนทุเรียนลูกเล็กขายให้กับพ่อค้า กิโลกรัมละ 9 สตางค์ เพื่อเอาไปทำเป็นส่วนผสมของไอศกรีม
ถึงเวลาฉลอง..ชม ชิม ช็อป แบบชิลชิล!
ข่าวร้ายทุเรียนดินภูเขาไฟผ่านไป วินาทีนี้ต้องเชิญชวนคนรักทุเรียนทุกท่าน เดินทางไปชม ชิม ช็อป แบบชิลๆ ที่สวนทุเรียนดินภูเขาไฟ ณ พื้นที่ปลูกทุเรียนบ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัด
ศรีสะเกษ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ เป็นช่วงเวลาที่ทุเรียนดินภูเขาไฟพีคสุดๆ
ในที่นี้หมายถึงทุเรียนให้ผลผลิตเยอะสุด และทุเรียนพันธุ์หมอนทองยอดนิยมแก่สุดพร้อม มีรสชาติอร่อยสุดพร้อมรับประทาน เปอร์เซ็นต์เนื้อ-แป้งของทุเรียน 85-100% หรืออายุทุเรียนประมาณ 135 วัน
นับตั้งแต่ดอกทุเรียนบาน ถ้าชาวสวนยึดตามสูตรนี้ รับประกัน 100% นักท่องเที่ยวหรือคนรักทุเรียน จะได้รับประทานทุเรียนดินภูเขาไฟแบบประทับชนิดไม่ลืมไปอีกนาน..
แต่ถ้าหากพบว่า “มีชาวสวนทุเรียนลักไก่ ตัดทุเรียนอ่อนขายให้นักท่องเที่ยว” ..นักท่องเที่ยวอย่านิ่งนอนใจ รีบทำเรื่องต่อไปนี้ทันที 1. จดชื่อ-เบอร์โทรศัพท์สวนทุเรียน (ปกติจะดูได้จากสลากที่ติดบนขั้วทุเรียน)
และแจ้งสวนทุเรียนนั้นทันที เพื่อขอเคลมทุเรียนลูกใหม่หรือขอเงินคืน (อย่าลืมถ่ายรูปทุเรียนอ่อน-ทุเรียนเน่าหรือเสียหายไว้ด้วย)
2. ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เช่น ปลัด อบต. – ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน (ท่านผู้อ่านแจ้งปลัดช้าง..ปลัด อบต.ตำบลพราน และกำนันศรี กำนันตำบลพราน-เพื่อนผู้เขียนให้ไปดูแลได้เลย)
มาถึงบรรทัดนี้ ท่านผู้อ่านและแฟนคลับสำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ ท่านไหนอยากทานทุเรียนดินภูเขาไฟรสชาติแสนอร่อยเหาะไม่ควรพลาด โดยเฉพาะการเดินทางไปลิ้มลองรสชาติทุเรียนดินภูเขาไฟถึง
แหล่งผลิต โดยการจัดงานเทศกาลทุเรียนดินภูเขาไฟของปีนี้ประกาศชัดเจนแล้ว (อ้างถึงแหล่งข้อมูลจาก : สวท.ศรีสะเกษ)
โดย ”เทศกาลงานทุเรียนดินภูเขาไฟ ณ แหล่งผลิต” ของจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มคิกออฟหรือเปิดฉากต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมิถุนายน มีรายละเอียดดังนี้..
– วันที่ 7-9 มิถุนายน 62 ณ สนามกีฬาวงกลมอำเภอขุนหาญ
– วันที่ 12-18 มิถุนายน 62 ณ บริเวณสนามกีฬาหน้าอำเภอกันทรลักษ์
– วันที่ 20-30 มิถุนายน 62 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ศรีสะเกษ
อย่างไรก็ตาม หากนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางไปแหล่งผลิตทุเรียนดินภูเขาไฟ เพื่อสัมผัสบรรยากาศของสวนทุเรียนสร้างความรู้สึกฟินๆ ก่อนจะรับประทานทุเรียนให้อร่อยและช็อปติดไม้ติดมือกลับบ้านเต็ม
คันรถนั้น ขอแนะนำเดินทางไปยังแหล่งผลิตทุเรียนดินภูเขาไฟแหล่งใหญ่ จะเห็นร้านค้าผลไม้เรียงรายสองข้างทาง ตั้งแต่ตลาดผลไม้บ้านหนองเก่า-บ้านโนนเดื่อ (ตลาดผลไม้อยู่ข้างวัดหนองเก่า) และบ้านซำขี้
เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
….การเดินทางสะดวก ถนนลาดยาง (แม้จะขรุขระบ้าง) ถึงสวนทุเรียน..ขอให้คนรักทุเรียนทุกท่านทานทุเรียนดินภูเขาไฟให้อร่อย..และทานแต่พอเหมาะนะคร้าบบบบ !
โปรทุเรียน เรียบเรียง
Cr. : เนตรทิพย์ออนไลน์
http://www.natethip.com/news.php?id=442