ปั้น 11 อพท.น้อย จังหวัดเชียงราย อพท. เตรียมความพร้อมก่อนลุยจัดทำแผน “อารยธรรมล้านนา” (ชมคลิป)

1 min read

ปั้น 11 อพท. น้อย ในจังหวัดเชียงรายให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เตรียมความพร้อมก่อนเข้าพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวภายใต้เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ชี้เชียงแสน มีศักยภาพสูงที่สามารถหนุนให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชื่อม ลาว พม่า และจีน

 

วันที่ 29 สิงหาคม 2562 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานมอบประกาศนียบัตรการส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมดอยตอง โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี บาย กะตะธานี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย


นายทวีพงษ์ ฯ กล่าวว่า อพท. ได้เตรียมการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา เพื่อผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. พิจารณาตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2563 ทั้งนี้ พื้นที่พิเศษเมืองเชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ซึ่ง อพท. ได้เคยศึกษาเพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยง และพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีทุนทางศิลปวัฒนธรรมเป็นจุดแข็ง

ประกอบกับชัยภูมิพื้นที่ดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ดังนั้นคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (พพท.) จึงเห็นชอบให้ อพท. โดยสำนักพัฒนาขีดความสามารถ (สพข.) เข้าไปดำเนินงานในจังหวัดเชียงราย ด้วยการนำองค์ความรู้ “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) ไปพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะถูกบรรจุในแผนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ล่าสุดได้คัดเลือกหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน STMS จำนวน 11 องค์กร


“11 หน่วยงานที่ผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยว หรือ STMS จะได้เป็น อพท. น้อย ได้แก่ เทศบาลตําบลท่าสาย เทศบาลตําบลนางแล เทศบาลตําบลแม่ยาว เทศบาลตําบลเวียงเชียงแสน เทศบาลตําบลศรีดอนชัย เทศบาลตําบลห้วยไคร้ เทศบาลนครเชียงราย องค์การบรหารส่วนตําบลรอบเวียง องค์การบรหารส่วนตําบลห้วยไคร้ องค์การบริหารส่วนตําบลห้วยชมภู และบริษัท นิวเชียงแสน กรุ๊ป จํากัด ซึ่งจะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาให้แก่ชุมชนของตัวเอง”
สำหรับเมืองเชียงแสน ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เป็นที่ตั้งแหล่งประวัติศาสตร์อารยธรรมก่อนล้านนา

และล้านนาที่ยังคงเหลือร่องรอยโบราณสถานให้เห็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณเมืองเชียงแสนและแหล่งประวัติศาสตร์เชื่อมโยง สามารถเข้าถึงได้สะดวกทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และยังเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยวกับเมืองสุวรรณโคมคำและเมืองหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองเชียงรุ้งในสาธารณรัฐประชาชนจีนและเมืองเชียงตุงในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้ตามเส้นทาง R3A เส้นทาง R3B และการล่องเรือแม่น้ำโขง พื้นที่ส่วนนี้จึงได้รับผลดีจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)


ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่าง อพท.น้อย กับ อพท. ที่มีอยู่เดิม คือ อพท. เดิมจะมีชุมชนเป็นเป้าหมายของการทำงาน ส่วน อพท.น้อย จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเป้าหมายของการทำงาน เพราะ อพท. จะอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปใช้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น โดยมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีเกณฑ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย

การจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แนวทางการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน และการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้กับประชาชน ผู้ที่จะผ่านการอบรมต้องมีผลการประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยโครงการ อพท.น้อย ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 และมีแนวคิดที่จะขยายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล เป็นต้น

You may have missed