‘หม่อมเต่า’ เปิดเวทีเสวนา “โรคระบาดโควิด – 19 กับการปฏิรูปการส่งเสริมสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการ”
1 min readรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเวทีเสวนา “โรคระบาดโควิด – 19 กับการปฏิรูปการส่งเสริมสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการ” จัดโดย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เน้นย้ำ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะของคนทำงานให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาพอนามัยที่ดี
วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติ เป็นประธานเปิดงานเสวนา “โรคระบาดโควิด – 19 กับการปฏิรูปการส่งเสริมสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการ” โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในการเปิดงานเสวนาฯ ดังกล่าว ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
สำหรับโครงการเสวนา “โรคระบาดโควิด – 19 กับการปฏิรูปการส่งเสริมสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการ” มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนกระบวนการทำงานของผู้นำแรงงานและองค์กรเครือข่ายในการขับเคลื่อนและรณรงค์นโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน 2) เพื่อพัฒนากิจกรรมของสถานประกอบการในการส่งเสริมป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 3) เพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ
และความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยผ่านกระบวนการความร่วมมือทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และองค์กรแรงงานในสถานประกอบการ และ 4) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของแรงงาน ในมิติการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน/ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในสถานประกอบการ การเสวนาครั้งนี้คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และองค์กรแรงงานในสถานประกอบการ นักวิชาการ เพื่อการพัฒนาแนวทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยองค์กรเข้าร่วมเสวนาฯ ประมาณ 25 องค์กร จำนวน 87 คน
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดคำเรียกใหม่ว่า New Normal หรือ ความปกติใหม่ ที่หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักในด้านการดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและส่วนรวม มีการใช้หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์และล้างมือเป็นประจำ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการรับประทานอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งมีการเว้นระยะห่างทางสังคม
กระทรวงแรงงานได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาวะของคนทำงาน เพราะเมื่อมีสุขภาพที่ดี ย่อมส่งผลต่อศักยภาพในการทำงาน ยังผลให้เกิดความพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภาพเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งการดำเนินการเชิงป้องกันและส่งเสริมเพื่อให้คนทำงานมีสุขภาพอนามัยที่ดีมีความคุ้มค่ามากกว่าการรักษา หรือฟื้นฟูสุขภาพกลับคืนมา ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของคนทำงานอย่างต่อเนื่อง
“การดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะของคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ตลอดจนภาคเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีการจัดงานสานเสวนาในวันนี้ เพื่อระดมสมองแสวงหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนกิจกรรมการสร้างสุขภาวะคนทำงาน ที่มีทุกภาคส่วนร่วมในการดำเนินการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายสุด