เมือง ไม้ขม “น้ำมันเถื่อน”มะเร็งชั่วที่ไม่มีวันตาย
1 min readเมือง ไม้ขม “น้ำมันเถื่อน”มะเร็งชั่วที่ไม่มีวันตาย
ปัญหาน้ำมันเถื่อน หรือน้ำมันลักลอบหนีภาษี ที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย และ สิงคโปร์ คือปัญหาที่”เรื้อรัง”ชนิดที่เรียกว่า”เชื้อชั่วที่ไม่เคยตาย” ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และประเทศไทย เพราะไม่เคยมี รัฐบาลไหน หรือ เจ้าหน้าที่หน่วยใด ที่สามารถ “พิฆาต” น้ำมันเถื่อนให้หมดสิ้นไป
เหตุผลแรก ซึ่งเป็นที่มาของ น้ำมันเถื่อน จาก 2 ประเทศดังกล่าว เนื่องจากราคาขายที่ถูกกว่า น้ำมันในประเทศไทย โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “น้ำมันโซล่าร์” จำหน่ายในปั้มน้ำมันที่ประเทศมาเลเซียลิตรละ 15 บาท ส่วนน้ำมันเบนซิน 65 และ 97 จำหน่ายลิตรละ 17-18 บาท (หมายเหตุ ที่มาเลซีย ไม่มีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ) รวมทั้งไม่มีน้ำมันจำนวน อี ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อี 20 อี 85 ที่ประเทศไทยมีมากมายแบบ”อีลุ่ยฉุยแฉก” โดยอ้างว่าเป็น ทางเลือกของผู้บริโภค ที่สำคัญน้ำมันที่จำหน่ายใน มาเลเซีย ไม่มี ขึ้น-ลง รายวัน รายสัปดาห์ แบบประเทศไทย ซึ่งอ้างการขึ้น-ลง ของ ตลาดโลก ส่วนน้ำมันจาก ประเทศสิงคโปร์ ผู้ลักลอบซึ่งเป็นนายทุนใหญ่ ซื้อโดยตรงจากโรงกลั่น และบรรทุกมาทางเรือเดินทะเล เพื่อ จำหน่ายให้กับพ่อค้า กลางทะเล เพื่อนำขึ้นฝั่ง ขายต่อในประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง
ในขณะที่น้ำมันในประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีโรงกลั่นถึง 6 โรง แต่ราคาน้ำมัน ขึ้น-ลง ตามตลาดโลก และที่ทำให้ราคาน้ำมัน ระหว่าง ประเทศมาเลเซีย กับ ไทย ต่างกัน เหมือน”หน้ามือกับหลังเท้า” เป็นเพราะ รัฐบาลไทย สั่งให้มีการเก็บภาษีน้ำมัน จากผู้ใช้น้ำมัน ลิตรละ 6 – 7 บาท และหากรวมภาษีต่างๆ ทั้งเรื่อง”สิ่งแวดล้อม” และการเก็บเข้า “กองทุน” ภาษีน้ำมันในประเทศไทยอาจจะทะลุถึงลิตรละ 8 บาทด้วยซ้ำ ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ไม่มีการเก็บภาษีน้ำมันจากผู้ใช้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ 1 มาเลเซียขุดเจาะน้ำมันมาใช้เอง และ ส่งออก และที่สำคัญ การไม่เก็บภาษีน้ำมันจากผู้ใช้ เป็นการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบ”ภูมิบุตรา”
ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันในประเทศมาเลเซีย ต่ำว่าในประเทศไทยลิตรละ 10 กว่าบาท จึงกลายเป็นแรงจูงใจ ให้ นายทุน และพ่อค้า ในพื้นที่ ทำการลักลอบนำเข้า น้ำมันเถื่อนจากมาเลเซีย อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะได้กำไรอย่างมหาศาล เช่นถ้านำเข้าวันละ 10,000 ลิตร ก็จะได้กำไร”ส่วนต่าง” หนึ่งแสนกว่าบาท ถ้าในแต่ละวันบรรดา”นายทุน” และ พ่อค้า รวมทั้ง “กองทัพมด” ที่เป็น ชาวบ้าน ใน แนวชายแดน อ.สะเดา อ.นาทวี สามารถน้ำเข้าน้ำมันเถื่อน 1-2 แสนลิตร หมายถึงกำไล 1-2 ล้านบาท และในทางกลับกัน น้ำมันเถื่อน 1 ลิตร ทำให้รัฐขาดภาษี 7-8 บาท ถ้า มีการนำน้ำมันเถื่อน เข้ามา จำหน่วยให้คนในประเทศวันละ 1-2 แสนลิตร นั้นหมายถึงเงินภาษีที่รัฐควรจะได้ ต้องสูญหายไป 1-2 ล้านบาทต่อวัน เดือนละเท่าไหร่ ปีละเท่าไหร่ กี่หมื่น ล้าน คิดดูกันเอง
ต่อมา เส้นทางของการลักลอบน้ำเข้าน้ำมันเถื่อน จากประเทศมาเลเซีย เข้ามายังประเทศไทย อันดับ 1 คือ จ.สงขลา ซึ่ง นายทุน พ่อค้า นำเข้ามาทาง ต.ปาดังเบซาร์ และ ต.สำนักขาม อ.สะเดา และ ต.ประกอบ อ.นาทวี เป็นด้านหลัก โดยเฉพาะ ชายแดน ต.ปาดังเบซาร์ นั้น ในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศุลกากร และ ตำรวจ สภ.ปาดังเบซาร์ เต็มไปด้วย “โกดัง” ที่ นายทุน และ พ่อค้า ใช้สำหรับเก็บกักน้ำมันเถื่อน เช่นเดียวกับในพื้นที่ ต.ทุ่งหมอ อ.สะเดา ที่มีการสร้าง”โกดัง” เพื่อใช้เก็บน้ำมันเถื่อน ก่อนที่จะ ขนส่งไปจำหน่ายให้กับ เจ้าของปั๊มน้ำมัน และ เจ้าของธุกิจ อุตสาหกรรม ที่ต้องการใช้ ของถูก
เส้นทางที่ 2 คือ อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลัก ที่มีการ ลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน จนเจ้าหน้าที่มองเป็นเรื่อง ปกติ เพราะทำกันเป็น ขบวนการ ทั้งทางบก ทางน้ำ ส่วนอีกเส้นทาง คือ ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล ซึ่ง ในพื้นที่ของ ต.วังประจัน อ.ควนโดน นายทุน ได้ สร้าง”โกดัง” เพื่อเก็บน้ำมันเถื่อน เป็นระยะๆ โดยที่ เจ้าหน้าที่ ก็ไม่ได้สนใจ กับเรื่องที่”นายทุน” ดำเนินการแต่อย่างใด
ในขณะที่ ในทุกอำเภอของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสร้าง”ปั๊มเถื่อน” และร้านค้าที่เปิดจำหน่าย”น้ำมันขวด” กันอย่างมากมาย จนมีการกล่าวขวัญว่า สินค้า”โอท็อป” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ”น้ำมันเถื่อนจากมาเลเซีย” โดย น้ำมันเถื่อนเหล่านี้ ขายถูกกว่าน้ำมันที่เสียภาษีถูกต้องของสถานบริการน้ำมันที่ถูกกฎหมาย ลิตรละ 2-3 บาท ซึ่ง “จูงใจ” ให้ ผู้ใช้รถยนต์ และ จยย. หันมาใช้น้ำมันเถื่อน เป็นจำนวนมาก
ประเด็นสำคัญ ที่คนส่วนใหญ่เป็นห่วงคือ มีการปล่อยให้พ่อค้าน้ำมันมันเถื่อนมา บรรจุขวดขายในชุมชน ในเขตเทศบาล ไม่ว่าจะเป็น เทศบาลเมืองสะเดา สำนักขาม ปาดังเบซาร์ หรือ เทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นจำนวนมาก ถนนบางสายมีการเปิดร้านขายน้ำมันขวดกว่า 10 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่คือน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ซึ่งเป็น สารไวไฟ และ ภายในบ้านมีการ ซุกซ่อน แกลลอล ที่ใส่น้ำมันเถื่อน 100 – 500 ลิตร เพื่อเตรียมบรรจุขวดขายให้ลูกค้า และหากเกิดเพลิงไหม้ จากความประมาท และอากาศ ร้อน ย่อมกลายเป็น”หายนะ” ที่ส่งผลถึงประชาชนโดยรวม
ในขณะที่น้ำมันเถื่อน กลางทะเลนั้น ส่วนใหญ่มาจาก โรงกลั่นประเทศสิงคโปร์ นายทุนใหญ่ เป็น เจ้าของกิจการ ประมง ในน่านน้ำ และ นอกน่านน้ำ และ นักการเมือง ท้องถิ่น ในภาคใต้หลายจังหวัด ซึ่งร่ำรวยจากการ ค้าน้ำมันเถื่อน โดยจะนำน้ำมันขึ้นฝั่ง ในพื้นที่ อำเภอ ที่มีท่าเทียบเรือ ใน จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.สราษฎร์ธานี และใน จ.ตรัง ระนอง และ สตูล เป็นต้น
แหล่งจำหน่าย น้ำมันเถื่อน ซึ่ง ในวันนี้ น้ำมันเถื่อน ไม่ได้มีจำหน่ายเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ติดกับประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่มีการขนส่งไปจำหน่ายให้กับปั๊มน้ำมัน กิจการขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และในภาคกลางบางจังหวัด นั่นคือ”ดัชนี” ที่บ่งบอกถึงความเติบโตของ ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และบ่งบอกถึงความ”ล้มเหลว” ในการแก้ปัญหา น้ำมันเถื่อนของหน่วยงานของรัฐ ของประเทศไทย
น้ำมันเถื่อน ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”นิยาม” ให้เป็น”ภัยแทรกซ้อน” ตั้งแต่ครั้งที่ “เสธเมา” พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็น แม่ทัพภาคที่ 4 และ มีการปราบปรามด้วยความ”เข้มข้น”ในยุคที่”แม่ทัพอาร์ท”หรือ พล.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช เป็น แม่ทัพภาคที่ 4 และมาถึงวันนี้ “บิ๊กเดฟ” หรือ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน ก็จัดให้”น้ำมันเถื่อน” เป็นเรื่องของ”ภัยแทรกซ้อน” เพราะมี หลักฐานว่า “เงิน” จากขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ถูกส่งให้ ขบวนการ บีอาร์เอ็น เพื่อก่อความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่…แม้ว่า น้ำมันเถื่อน” จะถูก”นิยาม” ว่าเป็นเรื่องของ”ภัยแทรกซ้อน” แต่การ ปราบปราม นายทุน พ่อค้า และ กองทัพมด ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ยังไม่สามารถ ดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ วันนี้ มีเพียง กำลังของ”ทหาร” เท่านั้น ที่มีผลงานในการ จับกุม ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ในขณะที่หน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ตามหน้าที่ และตามกฎหมาย คือ สรรพสามิต, ศุลกากร และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการจับกุม น้ำมันเถื่อนน้อยมากๆ
โดยเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถูกชาวบ้านจับตามองด้วยความหวาดระแวงถึงความไม่จริงใจในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจาก 1 รถบรรทุกน้ำมันเถื่อน ทุกวันนี้ ไม่ได้ใช้เส้นทาง ในป่าเขา ในการบรรทุกน้ำมัน แต่วิ่งผ่าน โรงพักทุกแห่ง รวมทั้งมีการติดทะเบียนปลอม มีการดัดแปลงรถกระบะ ให้บรรทุกน้ำมันได้ 2 – 3 พันลิตรต่อเที่ยว แต่ไม่มีการจับกุม 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการหน่วยงานที่ชื่อว่า “ปนม.หรือ ปราบปรามน้ำมันเถื่อน” ขึ้นตรงกับ”สอบสวนกลาง”มี เจ้าหน้าที่เดิน”เพ่นพ่าน” เต็มพื้นที่ แต่ไม่มีผลงาน จับกุม น้ำมันเถื่อน แบบเป็นชิ้นเป็นอัน ให้ปรากฏ
สุดท้าย มีผู้รู้กล่าวว่า การปราบปรามน้ำมันเถื่อน ที่”ล้มเหลว”มาโดยตลอด ทั้งที่เป็นปัญหาความมั่นคง เป็น”ภัยแทรกซ้อน”ของปัญหา”ไฟใต้” มาจาก นโยบายของการ”เลี้ยงเป็ด ไว้กินไข่ ของแต่ละหน่วยงาน เพราะ ผลประโยชน์จากน้ำมันเถื่อน จำนวนมหาศาล ถูก”กระจาย”ไปทุกหน่วยงานอย่างทั่วถึง นั่นเอง เท็จจริงแค่ไหน รัฐบาลต้องเป็นผู้ตรวจสอบ